17/07/61: มล. สุภรัตน์ เทวกุล ผู้แทนพิเศษรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวถ้อยแถลงในช่วงอภิปรายทั่วไปของการประชุมระดับรัฐมนตรี เวทีหารือทางการเมืองระดับสูงว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน พ.ศ. 2561 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก

17/07/61: มล. สุภรัตน์ เทวกุล ผู้แทนพิเศษรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวถ้อยแถลงในช่วงอภิปรายทั่วไปของการประชุมระดับรัฐมนตรี เวทีหารือทางการเมืองระดับสูงว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน พ.ศ. 2561 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก

วันที่นำเข้าข้อมูล 18 ก.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 870 view

ข่าวสารนิเทศ

มล. สุภรัตน์ เทวกุล ผู้แทนพิเศษรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวถ้อยแถลงในช่วงอภิปรายทั่วไปของการประชุมระดับรัฐมนตรี  เวทีหารือทางการเมืองระดับสูงว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน พ.ศ. 2561

ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก

 

                   เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2561 มล. สุภรัตน์ เทวกุล ผู้แทนพิเศษรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วมและกล่าวถ้อยแถลงในช่วงอภิปรายทั่วไปของการประชุมระดับรัฐมนตรี เวทีหารือทางการเมืองระดับสูงว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน พ.ศ. 2561 (High-level Political Forum – HLPF) ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก

                    ผู้แทนพิเศษรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เน้นย้ำเจตนารมณ์ของไทยในการเสริมสร้างสังคมที่ยั่งยืนและมีความสามารถฟื้นคืนกลับ ซึ่งถือเป็นพื้นฐานสำคัญของการบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 แห่งสหประชาชาติ (2030 Agenda for Sustainable Development) ไทยได้ดำเนินการในสามแนวทางหลัก คือ การขับเคลื่อนการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals -SDGs) ในระดับท้องถิ่น การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่กลไกการดำเนินงาน (means of implementation) เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในกระบวนการด้านการพัฒนา ซึ่งรัฐบาลไทยได้รวบรวมผลการดำเนินงานเหล่านี้ไว้ในรายงาน “การทบทวนการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ระดับชาติโดยสมัครใจ (Voluntary National Review - VNR)” ประจำปี 2561 ฉบับย่อ

                    ผู้แทนพิเศษรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศยังได้กล่าวขอบคุณสำหรับความช่วยเหลือและกำลังใจจากมิตรประเทศต่างๆ ที่ให้ระหว่างปฏิบัติการช่วยเหลือทีมฟุตบอลเยาวชนพร้อมผู้ฝึกสอนจากที่ติดอยู่ในถ้ำที่จังหวัดเชียงราย ซึ่งสะท้อนความสำคัญยิ่งของความร่วมมือระหว่างประเทศ การเสริมสร้างขีดความสามารถ ความเข้มแข็ง และความสามารถในการฟื้นคืนกลับของชุมชนท้องถิ่น อีกทั้งบทบาทของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งก็ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งต่อความสำเร็จของการอนุวัติวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน

                   การประชุมมีผู้แทนจากประเทศต่างๆ เข้าร่วมกล่าวถ้อยแถลง โดยส่วนใหญ่ได้เน้นย้ำเจตนารมณ์และถ่ายทอดถึงความก้าวหน้าและความท้าทายในการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเวทีหารือทางการเมืองระดับสูงว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี 2561 ได้รับความสนใจจากผู้แทนภาครัฐ องค์กรระหว่างประเทศ ภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจ เยาวชน ภาควิชาการ จำนวนมาก โดยในปีนี้มีประเทศที่นำเสนอรายงานการทบทวนการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ระดับชาติโดยสมัครใจ รวม 47 ประเทศ อาทิ ออสเตรเลีย สวิตเซอร์แลนด์ ภูฎาน ศรีลังกา เวียดนาม ลาว และสิงคโปร์  อนึ่ง ประเทศไทยนำเสนอรายงานการทบทวนการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ระดับชาติโดยสมัครใจ ฉบับสมบูรณ์ ต่อที่ประชุมแล้วในปี 2560 โดยในปีนี้ ไทยได้จัดทำรายงานฉบับย่อเพื่อสะท้อนพัฒนาการและความก้าวหน้าในการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนตามเป้าหมายต่างๆ ด้วย

                    เวทีหารือทางการเมืองระดับสูงว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีภายใต้คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (Economic and Social Council - ECOSOC) เพื่อทบทวนและติดตามผลการดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีกลไกสำคัญคือการนำเสนอรายงาน การทบทวนการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนของรัฐสมาชิก รวมทั้งการหารือและติดตามเป้าหมาย SDG ต่าง ๆ ในเชิงลึก ทั้งนี้ HLPF จะจัดการประชุมทบทวนในระดับผู้นำเป็นครั้งแรกในช่วงการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ในเดือนกันยายน 2562

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ