25/09/61: รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ยื่นสัตยาบันสารเป็นภาคีสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ (Comprehensive Nuclear-Test-Ban Treaty: CTBT)

25/09/61: รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ยื่นสัตยาบันสารเป็นภาคีสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ (Comprehensive Nuclear-Test-Ban Treaty: CTBT)

วันที่นำเข้าข้อมูล 6 ต.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 24 พ.ย. 2565

| 716 view

                   เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2561 นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ยื่นสัตยาบันสารเป็นภาคีสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ (Comprehensive Nuclear-Test-Ban Treaty: CTBT) ของไทยให้แก่นาย Santiago Villalpando หัวหน้าฝ่ายสนธิสัญญา สำนักงานกิจการด้านกฎหมายแห่งสหประชาชาติ ปฏิบัติหน้าที่แทนเลขาธิการสหประชาชาติ ซึ่งเป็นผู้เก็บรักษาสนธิสัญญาดังกล่าว ในห้วงการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 73 ณ สำนักงานสหประชาชาติ นครนิวยอร์ก โดยมีนาย Lassina Zerbo เลขาธิการบริหารคณะกรรมาธิการเตรียมการสำหรับองค์การสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ (Preparatory Commission of the Comprehensive Nuclear-Test-Ban Treaty Organization: CTBTO PrepCom) และนาย Thomas Markram ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการลดอาวุธแห่งสหประชาชาติ เข้าร่วมเป็นสักขีพยาน ทั้งนี้ ไทยได้

                   ลงนาม CTBT เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2539 และได้ดำเนินการทางกฎหมายเพื่อให้สามารถให้สัตยาบัน CTBT ได้ ได้แก่ (1) การแก้ไขพระราชบัญญัติพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ. 2504 ให้ครอบคลุมพันธกรณีภายใต้ CTBT อย่างครบถ้วน ซึ่งปัจจุบัน พระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 ได้มีผลใช้บังคับแล้วเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2560 และ (2) การจัดทำพระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานของ CTBTO ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2561

                  ภายหลังพิธีลงนาม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้พบหารือกับนาย Lassina Zerbo เลขาธิการบริหาร CTBTO PrepCom โดยนาย Zerbo ได้แสดงความยินดีที่ไทยให้สัตยาบันเป็นภาคี CTBT และกล่าวชื่นชมการดำเนินการของไทยเพื่อรับรองสถานีเฝ้าตรวจนิวไคลด์กัมมันตรังสี (สถานี RN65 ตั้งที่จังหวัดนครปฐม) และการเข้ารับตำแหน่งผู้ตรวจสอบภายนอก CTBTO โดยสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินของไทย วาระปี 2561 – 2562 ซึ่งประจวบเหมาะกับการที่ไทยจะเข้ารับหน้าที่ประธานอาเซียน และแสดงให้เห็นบทบาทนำของไทยด้านการลดและไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวถึงความสำคัญของ CTBT ต่อไทยและอาเซียน เนื่องจากหลักการของ CTBT สอดคล้องกับเป้าหมายสนธิสัญญาเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEANWFZ) ของอาเซียน ซึ่งดำเนินมา 20 กว่าปี  

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ